กลุ่มประสานงานเพื่อการเตือนภัย (เขากะลา)

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“กฎแห่งกรรม”


ไม่เคยลำเอียง.....ใครทำใครได้

คือ ใครทำอย่างใด ก็จะได้อย่างนั้น

เพราะไม่ว่าใคร...คิดอย่างไร ก็จะได้รับผลนั้นทันทีตามความคิดนั้น ๆ

ทางโลก จึงมีการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น อาฆาตพยาบาทซึ่งกันและกัน โลกจึงมีแต่ความรุมร้อนด้วยเพลิงโทสะ
แต่ในทางธรรม....การให้อภัย การให้ความเมตตาซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

เพราะจะทำให้บุคคลนั้น ... ไม่ต้องจมอยู่กับความทุกข์... ที่เกิดจากความคิด และอารมณ์นั่นเอง

เพราะการคิดอาฆาต พยาบาท คิดมุ่งร้าย คิดจะทำลายกัน บุคคลนั้นก็ได้รับผลไปแล้ว ในขณะนั้น

นั่นคือ มีความทุกข์ มีความร้อนรน มีความขุ่นเคือง มีความหนักหนาสาหัสของความมีตัวตนที่หนักอึ้งเกิดขึ้นในขณะนั้น

ณ ขณะนั้น ณ วินาทีนั้น ณ ปัจจุบันนั้น เขาก็มีความทุกข์ของเขาอยู่แล้ว ตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งตามธรรมชาติ

เพราะ เมื่อคิดร้าย สารเคมีประเภทความรุมร้อน ก็หลั่งออกมา อารมณ์ก็ขุ่นมัว ร้อนรน นั่นคือบุคคลนั้นกำลังรับทุกข์อยู่แล้ว แต่มองไม่เห็น

คือ

มองไม่เห็นทุกข์ - คือยังมองไม่เห็นข้อแรกของอริยสัจ 4

แล้วข้อที่ 2 ข้อที่ 3 ข้อที่ 4 จะมีปัญญาเห็นหรือ ?

เพราะ ต้องเห็นข้อ 1 ก่อน ต้องเห็นว่านี่คือ ทุกข์ รู้ว่ากำลังทุกข์อยู่ ความร้อนรนด้วยไฟโทสะ ความร้อนด้วยเพลิงอาฆาตพยาบาท มันเป็นข่ายทุกข์ มันเป็นความทุกข์

เมื่อเห็นข้อ 1 ว่ากำลังทุกข์อยู่ จึงจะขนขวายหา เหตุแห่งทุกข์ หาทางดับทุกข์ แล้ว ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์นั้น

แต่.... ขณะที่กำลังทุกข์ ร้อนรนกันอยู่ จะมีปัญญาพิจารณาหรือไม่ ว่ากำลังปรุงทุกข์ทิ่มแทงตนเองกันอยู่

ในทางธรรมะจึงมีการให้เปลี่ยนความคิด เพื่อจะได้ไม่ต้องไปทุกข์กับอารมณ์เหล่านั้น

หากคิดพยาบาท อย่าเลย ให้คิดเมตตากันดีกว่า
หากคิดริษยา อย่าเลย ให้มีมุทิตาจิต(พลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ีดี)กันดีกว่า

นี่คือ ทางธรรมะก็มีทางออกให้ มีทางแก้ไขผู้ที่กำลังทุกข์อยู่ ให้เห็นทางออกจากทุกข์ คือมีเมตตากันและกัน

มีความเข้าใจ มีการให้อภัย ความร้อนรนด้วยเพลิงโทสะทั้งหลายก็จะกลายเป็นความสงบเย็น

สิ่งที่ได้กล่าวไว้อย่างต่อเนื่องก็คือ

การ ไม่ส่งจิตออกไปนอกตนเอง ไม่ส่งจิตออกไปตัดสินใคร มุ่งเน้นให้เห็นการปรุงแต่งของอุปาทานในขันธ์ห้าของตนเองเท่านั้น มุ่งที่จะพัฒนาความสามารถในการเห็นความว่าง ว่างจากยึดมั่นในอัตตาตัวตน ว่างจากการยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ห้า ที่คิดว่าเป็นตัวตน ของตน

ดังนั้น การไปมองที่ขันธ์ห้าคนอื่น การไปคาดคะเน การไปประเมินปัญญาของคนอื่นนั้น มันเป็นการเห็นผิดตั้งแต่ทีแรก

นั่นคือ....มองออกไปไกลจากขันธ์ห้าของตนนั่นเอง

ดัง นั้น หากทุกท่านที่ได้ศึกษาธรรมะเพื่อการละวางอัตตาอย่างถ่องแท้ เห็นตามธรรมของพระพุทธองค์ที่กล่าวไว้ ให้พิจารณาว่าขันธ์ห้านี้มิใช่ตัวตน ของตนแล้ว ท่านย่อมไม่ไปชี้ผิด ชี้ถูก กับใครทั้งสิ้น เพราะทุกคนมีวิบากกรรม ที่ติดตัวมากันทั้งนั้น มีสติปัญญา มีการพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติสัมปชัญญะ ตามแต่กรรม วิบากกรรมของแต่ละท่านเอง

หาก เราลองมองย้อนกลับไป เวลาเราพบคนที่เขายังนับถือต้นไม้ใบหญ้า นับถือก้อนหินก้อนดิน เราจะคิดว่า ทำไมเขาไม่มีปัญญามองเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมันไร้สาระ มันช่วยไม่ได้จริง มันเป็นสิ่งที่ผิด มันไม่ใช่ทางหลุดพ้น

แต่คนกลุ่มนั้น เขาย่อมมองเห็นว่าเขาทำถูกต้อง มองเห็นว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดของเขาแล้ว เพราะเขามีปัญญาแค่นั้น มีวิบากอย่างนั้น ต้องเกิดมาอยู่ในถิ่นที่มีความเชื่อแบบนั้น ซึ่งเป็นการยากที่จะไปเปลี่ยนความเชื่อเขาเหล่านั้น

หากท่านเป็นห่วง อยากช่วยเหลือ อยากเปลี่ยนแปลงเขาเหล่านั้น ท่านก็เป็นทุกข์เอง เพราะความทุกข์มันเกิดอยู่ในขันธ์ห้าของท่าน แล้วยื่นออกไป ทั้ง ๆ ที่ไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย

ท่านจึงต้องใช้ปัญญาเพื่อพิจารณาแล้ว ปล่อยวาง ให้เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นเองตามเหตุปัจจัย สติปัญญาของเขามาได้...เท่ากับวิบากของเขาเท่านั้น

หากท่านมองไปยัง จุดอื่น ๆ ในปัจจุบัน มีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปยังจุดต่าง ๆ มากมาย มีหลากหลายวิธีการปฏิบัติ หลากหลายสำนักมากมาย แต่ละที่ แต่ละแห่ง ก็มีการมุ่งเน้นปฏิบัติเพื่อการออกจากวัฏฏะสงสารทั้งสิ้น แล้วแต่จะเป็นรูปแบบ หรือวิธีใด ๆ

นั่นก็มิได้หมายความว่า เขาเหล่านั้นคิดผิดหรือคิดถูก แต่มันถูกต้องตามจริต ตามปัญญา ตามกรรม วิบากกรรมที่ส่งมานั่นเอง

ดังนั้น อย่าได้ไปมองว่าคนนั้นโง่ คนนี้ฉลาด เราคิดถูก เขาคิดผิด หรือมีมุมมองใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบขึ้นมา

เพราะ ทุกคน ต้องรับผิดชอบดวงจิตของตนเอง ต้องหมั่นพิจารณาไตร่ตรอง ต้องปฏิบัติจนเห็นความเบาบางจางคลายจากการยึดมั่นถือมั่นด้วยตนเอง

และ ที่สำคัญ ห้องเรียนของท่านคือขันธ์ห้าขันธ์นี้ ต้องหมั่นที่จะพิจารณาขันธ์ห้าของท่าน เพื่อการปล่อยวาง ละการยึดมั่นถือมั่น ในขันธ์ของท่านเอง

ไม่ต้องไปช่วยขันธ์ห้าอื่น ๆ เขาปล่อยวางหรอก เพราะช่วยกันไม่ได้ ของใครของมัน ได้แต่เพียงชี้แนะแนวทางให้ได้เท่านั้น

แต่ละท่าน ก็ต้องทำเอาเอง

ระบบ ก็เพียงแต่ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติตามทฤษฎีของระบบ เพื่อให้ปล่อยวาง ละการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าของท่านเอง

ดัง นั้น การเข้ามารับรู้ เข้ามารับทราบ ในกฏธรรมชาติที่ระบบได้ถ่ายทอดไว้นี้ ท่านต้องนำไปพิจารณาไตร่ตรองด้วยตัวท่านเอง แล้วลองนำไปปฏิบัติ

เมื่อผลการปฏิบัติออกมาแล้ว

ท่านก็จะทราบได้ว่า ท่านมาถูกทางหรือไม่?

เพราะทุกอย่างเป็นปัจจัตตัง ที่ท่านเท่านั้นจะรู้เอง เห็นเอง และสัมผัสเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น