กลุ่มประสานงานเพื่อการเตือนภัย (เขากะลา)

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตน / 17 17 17 17and 17

โลกนี้...ก็คือละครโรงใหญ่ ในกลไกของธรรมชาติ มีกรรม วิบากกรรม เป็นผู้คัดเลือก ให้แต่ละท่านมาเล่นตามบทนั้น ๆ อย่างเหมาะสม

ถ้าเลือกได้ ก็คงมีแต่คนอยากเกิดมาในกองเงินกองทอง เกิดมาสวย รวยทรัพย์ เกิดมาสุขสบายกันทั้งนั้น

ไม่มีใครอยากเลือกเกิดมาลำบาก เกิดมายากจน เกิดมาพิกลพิการ

แต่.... เพราะไม่มีใครเลือกเกิดได้....ตามอำเภอใจตนเอง ด้วยวิบากกรรมต่าง ๆ ที่ทำไปด้วยความไม่รู้ เป็นผู้จัดสรรให้มาเล่นบทนั้น ๆ

ถ้า ยังออกจากกรรม วิบากกรรมของแต่ละคนไม่ได้ ก็ยังคงต้องมาเล่นบทบาทต่าง ๆ มากมาย ทั้งบทพ่อ แม่ ลูก ผู้ชาย ผู้หญิง พี่ ป้า น้า อา คนรวย คนจน เจ้านาย ลูกน้อง สวมหัวโขนด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ และเล่นกันต่อไป หลายภพ หลายชาติ จนนับไม่ถ้วน
ด้วยการวนเวียนมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย ในโรงละครนี้

แม้วันนี้ จะเลือกเกิดไม่ได้
แต่เลือกที่จะ...."ไม่เกิด"...ได้ ..... ถ้าเข้าถึงกลไกของธรรมชาติ
คือ เลือกได้.... ที่จะไม่เกิดอีก เลือกที่จะไม่มาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอีก

พระ พุทธองค์ ท่านพบหนทางของการ หลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่านเข้าถึงกลไกของธรรมชาติเหล่านั้น ค้นพบทางที่ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว จึงชี้ทาง บอกทางให้กับผู้ที่มืดบอดด้วยอวิชชา ได้รับรู้ และดำเนินตามท่านเพื่อหลุดพ้นจากสังสารวัฏอันยาวนาน
พระอรหันตสาวกทั้ง หลาย ดำเนินตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน ชี้ทาง และหลุดพ้นจากอวิชชา พ้นจากอุปาทานทั้งหลาย ไม่ต้องมาเวียนเกิดเวียนตายเช่นกัน

แม้ผู้ที่ เป็นสาวกของพระพุทธองค์ ดำเนินตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มีการไตร่ตรองในธรรมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือบุคคลใด ๆ ก็ตาม ก็สามารถเข้าถึงกฏสัจธรรมนี้ได้ หากมีปัญญาเห็นธรรม หรือเห็นจริงในธรรมชาติเหล่านั้น
และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้เช่นกัน

ดัง นั้น จึงต้องพุ่งเป้าไปที่ขันธ์ห้าของตนเองเป็นหลัก เพื่อเรียนรู้ให้เชี่ยวชาญในการดับทุกข์ในขันธ์ห้า หมั่นพิจารณาให้เห็นความเป็นเช่นนั้นเองของทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ ที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา

มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เพราะมันทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ มันต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมันก็ไม่ได้เป็นตัวใครของใครทั้งสิ้น มันจึงบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยนั่นเอง

หากเชี่ยวชาญในการดับทุกข์ในขันธ์ห้า และออกจากอุปาทานทุกข์เหล่านั้นได้

ถือว่าท่านเชี่ยวชาญทุกสาขา

ทางโลก
ผู้ที่เก่งทางเคมี ท่านก็คือผู้เชี่ยวชาญทางเคมี
ถ้าท่านเก่งทางคอมพิวเตอร์ ท่านก็คือผู้เชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์
ถ้าท่านเก่งทางการแพทย์ ท่านก็คือผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์
ถ้าท่านเก่งทางวิศวกรรมสาขาใด ๆ ท่านก็คือผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ

แต่ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ก็ยังคงทุกข์อยู่ ยังคงดิ้นรนเพื่อให้ออกจากทุกข์อยู่ นั่นแสดงว่า ท่านเชี่ยวชาญสาขาไหนไม่สำคัญ แต่ท่านก็ยังคงทุกข์อยู่ ยังคงหาทางดับทุกข์อยู่

แต่ถ้าท่านเชี่ยวชาญในการดับทุกข์ ในการละจากอุปาทานขันธ์ห้า ต้นตอของความทุกข์ และท่านสามารถดับทุกข์ได้ในขันธ์ห้าของท่านเอง

นั่นหมายถึงว่า ท่านเชี่ยวชาญทุกสาขา
เพราะผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ทั้งหลาย สุดท้ายก็ต้องมาออกตรงทางเดียวกัน

ก็คือหาทางดับทุกข์ เพื่อออกจากทุกข์ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น อริยสัจ 4 ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ จึงมุ่งหมายในเรื่องของ ทุกข์ กับการดับทุกข์ เท่านั้น
1.ทุกข์
2.สมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิด
3.นิโรธคือความดับทุกข์
4.มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
พระพุทธองค์ตรัสแต่เรื่องของทุกข์ กับการดับทุกข์
ไม่ได้ตรัสเรื่องความสุขเลย
ดังนั้นความสุขจริง ๆ จึงไม่มี
มีแต่ทุกข์มาก กับทุกข์น้อย เท่านั้น

ทุกข์น้อย มองเห็นได้ยาก จนมองไม่เห็นว่านี่คือความทุกข์ ต้องใช้ระยะเวลานานหน่อยจึงเห็น เลยไปคิดว่า...เป็นความสุข

เหมือนไปเที่ยว ไปร้องเพลงคาราโอเกะ เหมือนไปพักผ่อน ไปสนุกสนาน ไปมีความสุข
แต่ พอเหนื่อย เดินเที่ยวเหนื่อย ร้อน อยากกลับบ้าน จากความสุขเมื่อตอนไปเที่ยว กลับเป็นความทุกข์ ด้วยความเบื่อหน่าย อยากกลับแล้วคนอื่นยังไม่กลับ จึงต้องทนรอด้วยความทุกข์นั่นเอง
หรือร้องคาราโอเกะอย่างสนุกสนาน พอร้องไปสัก 3 ชั่วโมง แล้วเริ่มเหนื่อย อยากหยุด อยากพัก เริ่มไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อนมาแล้ว
แต่ถ้าเขาบอกว่า ให้ร้องเพลงอยู่อย่างนั้น ห้ามหยุด ตลอดทั้งคืน ห้ามเลิก
ก็จะเริ่มทุกข์แล้ว เพราะเหนื่อย เพราะง่วง อยากหยุด อยากเลิก แล้วเขาไม่ให้เลิก
การร้องเพลงนั้น จะกลายเป็นร้องเพลงด้วยความทุกข์ทันที

ร้องไปเบื่อไป เมื่อไรจะให้หยุด เมื่อไรจะให้พอ

นั่นคือ มีความทุกข์แฝงอยู่แต่แรกแล้ว แต่มันยังไม่เห็น แต่พอเริ่มนาน ความทุกข์เริ่มปรากฏ เริ่มเห็น เริ่มทนไม่ได้

คราวนี้ ก็ต้องเริ่มหา วิชาดับทุกข์ มาใช้
ทานอาหารอร่อย เหมือนมีความสุข แต่พออิ่มแล้ว เขาบอกต้องทานอีก ต้องให้หมดจาน ต้องให้หมดหม้อ

เริ่มจะมีความทุกข์แล้ว พอแล้ว ไม่ไหวแล้ว ความทุกข์เริ่มปรากฏ

ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าสุข มันไม่มี มีแต่ทุกข์ กับปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์

นี่เป็นเพียงรูปขันธ์ที่เกี่ยวเนื่องส่งไปในขันธ์ห้านะ

แล้วอื่น ๆ อีกมากมายรอบตัว จึงมีแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ที่มองไม่เห็น ด้วยไม่มีปัญญามองเห็นนั่นเอง

พระพุทธองค์ตรัสรู้ แล้วเห็นทุกข์ เห็นโทษภัยในวัฏฏสงสารแล้ว
ท่านจึงตรัสสอน
ว่ามีแต่ทุกข์ กับการดับทุกข์เท่านั้น
และมูลเหตุแห่งทุกข์ ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า อุปาทานว่าเป็นตัวตน ของตน นั่นแหละเป็นเหตุแห่งทุกข์

ดังนั้น หากจะออกจากทุกข์ ก็ต้องเชี่ยวชาญในการดับทุกข์ ที่เกิดขึ้นในขันธ์ห้าของท่าน

ถ้าท่านเชี่ยวชาญในการดับทุกข์ ถือว่า ท่านเชี่ยวชาญทุกสาขา.
ดังบทความในหนังสือธรรมะ ฝนประปราย ที่กล่าวว่า


เกิดมาทำไม ?


ในโลกนี้มีวิชาความรู้หลายสาขา

ใครรู้แจ่มแจ้งสาขาใด ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น

แต่ผู้ใดรู้แจ่มแจ้งเรื่องความดับทุกข์

ผู้นั้นชื่อว่า เชี่ยวชาญทุกสาขา.


1 ความคิดเห็น: