กลุ่มประสานงานเพื่อการเตือนภัย (เขากะลา)

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ระบบ/มองให้เป็นจะเห็นความว่าง

เชื่อแน่ว่า ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ได้เดินทางเข้าสู่สายแห่งธรรม ย่อมเป็นผู้ที่ปรารถนาจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งสิ้น เป็นผู้ปรารถนาที่จะพ้นจากกรรม วิบากกรรม พ้นจากการต้องมาเวียนว่ายตายเกิดทั้งสิ้น แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า จะมีปัญญาแยกแยะได้เท่าใด ว่าอันไหนของจริง อันไหนของปลอม ทางไหนตรง ทางไหนอ้อม ทางไหนเป็นแก่น ทางไหนเป็นกระพี้ เป็นเปลือก เป็นใบ

ก็ ต้องลองผิด ลองถูก ลองไปศึกษากันมานานาสำนัก ก็เพื่อหาทางที่จะค้นพบทางที่เป็นแก่น จะได้ปฏิบัติได้ตรง ได้เร็ว และพ้นจากทุกข์กันเสียที

นี่เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ต้องใช้ปัญญาอย่างยิ่งยวด เพราะการลวงล่อในรูปแบบที่น่าศรัทธาต่างๆนานา มีมากมาย ยากที่จะพิจารณาให้ถึงแก่นแท้ได้อย่างแท้จริง

แต่มิใช่ว่า การพิจารณาเลือกเดินในทางสายใดสายหนึ่ง วิชาใด วิชาหนึ่ง สำนักใดสำนักหนึ่ง เป็นสิ่งที่ผิด หรือถูก

นั่นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามอินทรีย์ที่แก่กล้า ตามพละกำลังปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง ของบุคคลนั้นๆต่างหาก ที่จะมีความพร้อมเท่าใด

ดัง นั้น การที่จะเข้าไปกลางแก่นของต้นไม้ ก็ต้องผ่านใบ ผ่านเปลือก ผ่านกระพี้ ของต้นไม้เหล่านั้นไปก่อน จึงจะมองเห็นแก่นของต้นไม้ได้ เราทั้งหลายก็เช่นกัน ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ผ่านการก้าวขึ้นบันไดไปทีละขั้น ทีละขั้น จึงจะสามารถมองเห็นภาพรวมของเส้นทางที่เราเดินผ่านมาได้ ถ้าไม่มีบันไดขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3 เราก็ไม่อาจขึ้นมาสู่ขั้นที่ 4 ขั้นที่ 5 ได้เลย

บันไดแต่ละขั้น ธรรมะแต่ละศาสตร์ แต่ละสาย แต่ละวิธี ก็เป็นบันไดพื้นฐาน เพื่อการก้าวไปหาแก่นแท้ หาการปล่อยวางทั้งสิ้น

อย่าได้ไปมองคนที่กำลังก้าวขึ้นมาขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ว่ายังหลง ยังยึด ยังไม่ถูกทาง นั่นเป็นการมองที่จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ จะทำให้ตนเองเป็นทุกข์ ดังนั้น

ทุกสิ่งทุกอย่าง จึงถูกต้อง (ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ) ซึ่งเป็นการป้องกันการมองโดยการเปรียบเทียบ

ว่า เราดีกว่าเขา เขาดีกว่าเรา หรือเราเสมอกับเขา เพราะทุกคนมีเหตุปัจจัยต่างกัน จึงมีปัญญา มีการพิจารณา มีการไตร่ตรอง มีภูมิธรรมไม่เท่ากัน

แต่มิได้หมายความว่า เขาเหล่านั้น จะยังวนเวียนอยู่แต่ตรงจุดนั้นตลอดไป

เหมือนกับเมื่อเราอยู่ชั้น ป.2 เราอาจจะบวกเลข ลบเลขพอได้ แต่เรายังเพิ่งหัดใช้การคูณเลข เรายังไม่เป็น เรายังทำไม่คล่อง
หากพี่เราที่อยู่ชั้น ป.5 มาสอนเรา ก็จะบอกว่า ทำไมสอนไม่จำ ทำอย่างนี้ คูณอย่างนี้ ไม่เห็นยากเลย ง่ายจะตายไป

แต่สำหรับเรา สำหรับเด็ก ป.2 มันยากมากเลย

เด็ก ป.5 ก็กำลังยากในการเรียนสูตร เรียนตรีโกณ ถอดสแควรูท หรืออะไรต่อมิอะไรที่ครูเพิ่งเริ่มสอน จึงยากสำหรับเด็ก ป.5 คนนั้น

แต่ถ้าพี่อีกคน ที่เรียนชั้นมัธยม ก็อาจจะบอกว่า ไม่เห็นยากเลย แค่ทำอย่างนี้ อย่างนี้ แค่นี้ก็ทำไม่ได้

จะ เห็นได้ว่า สามคนนี้ อยู่ในสภาวะที่ต่างกันโดยพื้นฐาน ตามสภาวะทางโลก ที่กำลังดำเนินอยู่ มีสภาวะของการศึกษาที่ต่างกัน แต่น่าแปลก ..ที่มีมุมมองเหมือนกัน

นั่นคือมองว่า เราดีกว่าเขา เราฉลาดกว่าเขา เรารู้มากกว่าเขา ซึ่งเป็น

การ มองโดยมีตัวเองเป็นตัวตั้ง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แล้วเอาผู้อื่นมาเทียบ ถ้าเรารู้มากกว่า เราดีกว่าเขา ก็จะมีความหยิ่ง ดูถูกคนอื่น

ถ้าเขารู้มากกว่าเรา ก็จะหดหู่หม่นหมอง เพราะสู้เขาไม่ได้ เสียใจ ริษยา อยากเอาชนะ

แต่ ทุกคนคิดถูกต้อง ตามกำลังปัญญา ตามการยึดมั่นถือมั่นแต่ละคน และทุกคนก็จะได้รับความทุกข์ ความน้อยใจ เป็นของแจกของแถม ตรงไปตรงมาเช่นกัน

แต่ถ้ามองให้เป็น จะเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง ว่าน้องคนเล็กอยู่ ป.2 เขายังคูณเลขไม่ค่อยได้ นั่นเพราะเขายังอยู่ ป.2 เขายังไม่ได้เรียนถึงชั้น ป.5 เขาจึงยังไม่เข้าใจการคูณเลขนั่นเอง ไม่ใช่เขาโง่ แต่เพราะเขายังเรียนไม่ถึงชั้น ป.5 ถ้าเขาเรียนถึง ป.5 เขาอาจจะเรียนเก่งเลขมากกว่าพี่ในขณะนี้ก็ได้ คนที่อยู่ ป.5 แม้จะเก่งกว่า ป.2 แต่ก็ยังทำการถอดสูตร ถอดสแควรูทไม่ได้ ก็ถูกพี่ที่เรียนมัธยมดูถูกเอา หาว่าโง่ ไม่จำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเด็ก ป.5 จะโง่กว่าคนเรียนมัธยม แต่เพราะเขายังเรียนไปไม่ถึง เขาจึงยังไม่รู้นั่นเอง

หรือคนที่เรียนมัธยม ชั้นสูงที่สุดในบ้าน เขาก็อาจมีความทุกข์ที่ถูกรุ่นพี่ปริญญากระทบเอา ว่าสอนไม่จำก็เป็นได้

ที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อให้มองให้รอบว่า ไม่มีใครโง่ ไม่มีใครฉลาด ไม่มีใครเก่งกว่าใคร แต่เป็นเพราะแต่ละคนอยู่ในสภาวะที่ไม่เท่ากัน

มี ความรู้มีการศึกษาที่ไม่เท่ากัน และเพราะความไม่รู้ จึงไปหลงยึดในความไม่รู้นั้นว่า เป็นตัวเรานั่นเอง ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เกิดการเปรียบเทียบ เกิดอัตตาตัวตนขึ้นมา

การเปรียบเทียบอย่าง นี้ ก็พอจะมองออก พอจะเห็นภาพได้ แต่หากเป็นผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน จะมองยาก เพราะแต่ละคน ไม่อาจรู้ภูมิธรรมของอีกคนหนึ่งได้ อย่างดีก็ได้แค่ประมาณเอา จึงไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะไปคาดคะเน ไปนึกคิดเอาเอง แต่ถ้าเห็นว่า เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้นเอง ตามเหตุปัจจัยของเขาเหล่านั้น ก็จะตัดความวุ่นวาย ในการไปพิจารณาคนอื่น แทนที่จะมาพิจารณาขันธ์ห้าของตนเอง

คนเดียวก็เสียเวลาไปมากแล้ว ในการไปเอาเขามาพิจารณา แล้วถ้ามี 2 คน 5 คน 10 คน 20 คน หรือมากกว่านั้น จะยิ่งเสียเวลาในการพิจารณาขันธ์ห้าคนอื่นมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น การที่จะบอกธรรมะ การที่จะยื่นห่วงไปให้แก่ขันธ์ใดๆ หากบอกไปแล้วเขาเชื่อ หรือบอกไปแล้วเขาไม่เชื่อ ก็ให้วางลงเสีย อย่าได้เยื่อใย ยื่นห่วงไปให้เขาเหล่านั้น

เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับปัญญาในการไตร่ตรองของแต่ละภูมิธรรมนั้นๆ ซึ่งก็ไม่พ้นจากบัว 4 เหล่าไปได้

ดัง นั้น สิ่งที่เรากำลังสงสัยว่า คนนั้นทำไมเป็นอย่างนี้ คนนี้ทำไมเป็นอย่างนั้น คนนั้นทำไมใจดี คนนี้ทำไมใจดำ จึงควรหมดข้อสงสัย เพราะทุกอย่างมีเหตุปัจจัยส่งเข้ามาเป็นอย่างนั้น เพราะความไม่รู้ที่ยังไม่ได้ถูกขัดเกลาด้วยธรรม เขาจึงเป็นอย่างนั้นตามเหตุที่ทำไว้นั่นเอง

ถ้ามองผิดมุม ความทุกข์ก็ถามหา ความริษยาก็เกาะกิน ถ้ามองถูกมุม ก็จะเห็นความเป็นอย่างนั้นเองของทุกสรรพสิ่ง การที่จะส่งจิตออกนอกไปตัดสินใคร จะเริ่มน้อยลง

จะเริ่มอยู่ภายในมาก ขึ้น ก็เท่ากับได้ธรรมะไป 1 ข้อ คือ ไม่ส่งจิตออกนอก เพราะไม่รู้จะส่งออกไปทำไม ทุกอย่างล้วนถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้นๆอยู่แล้ว

เพราะ การมุ่งแต่ไปพิจารณาขันธ์ห้าของผู้อื่น ก็จะมีแต่ความอึกอัด ขัดข้อง ไม่ถูกอกถูกใจ เสียเวลาไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเราๆท่านๆได้เคยเสียเวลาเช่นนี้มานับกัปนับกัลป์แล้ว ก็ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ที่มุ่งแต่ไปพิจารณาขันธ์ห้าอื่นๆรอบตัวนั่นเอง.

กลุ่มประสานงานเพื่อการเตือนภัย(เขากะลา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น